รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ครั้งที่ 4/2561 ( อ่าน 283 )


รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร โครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 4/2561

วันที่ 12 ตุลาคม 2561 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

การพัฒนาระบบการประเมินแบบออนไลน์

ในการลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอทั้ง 47 อำเภอ ใน 5 จังหวัดที่ผ่านมาพบปัญหา
ในด้านของการจัดการข้อมูลทั้งจากผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินเป็นลักษณะข้อมูลที่มีความหลากหลาย ทำให้ยากต่อการนำข้อมูลเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลหรือการนำข้อมูลไปใช้ในการวิจัยในอนาคตดังนั้นเพื่อให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทางทีมอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินจึงมีการพัฒนาระบบการประเมินแบบออนไลน์ เพื่อให้ทั้งผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินได้นำไปใช้งานและง่ายต่อการจัดการข้อมูลในอนาคตและการพัฒนาระบบการประเมินแบบออนไลน์นี้กำลังอยู่ในช่วงของการออกแบบพัฒนาโดยมีรายละเอียด ดังนี้

การนำเข้าข้อมูล : ระบบประเมินออนไลน์ที่ได้รับการออกแบบสามารถทำการประเมินผลและนำเข้าข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ได้ข้อมูลที่สามารถนำเข้าระบบการประเมินออนไลน์ได้ คือ ข้อมูลพื้นฐานของอำเภอที่รับการประเมิน คะแนนการประเมินตนเองของพื้นที่รับประเมิน คะแนนการประเมินของคณะกรรมการประเมินและข้อคิดเห็น และสามารถนำเข้าข้อมูลอื่น ๆ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของการแนบไฟล์ได้ 

ในส่วนข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่รับการประเมินที่สามารถนำเข้าได้ เช่น ชื่อผู้ประสานงาน หน่วยงาน เบอร์โทรศัพท์ ที่ตั้ง เป็นต้น โดยในระบบการประเมินออนไลน์จะกำหนดไว้เป็นหัวข้อให้ผู้รับการประเมินสามารถกรอกข้อมูลได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งสามารถแนบไฟล์รูปภาพ เอกสาร ไฟล์ หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องการนำเสนอได้

การประเมิน : ในส่วนการประเมินจะแยกการประเมินเป็นหมวดตามแบบประเมินระบบสุขภาพอำเภอโดยสามารถเลือกดูเกณฑ์การประเมินก่อนการประเมินและกรอกข้อมูลข้อเสนอแนะภาพรวมเพิ่มเติมได้

สรุปผลการประเมิน : ภายหลังการประเมินสามารถเรียกดูข้อสรุปในแต่ละหมวดได้ และผู้ดูแลระบบ (Admin) สามารถเรียกดูข้อมูลทั้งหมดเป็นภาพรวมได้

ผู้ดูแลระบบ (Admin) : เป็นส่วนกลางที่สามารถเรียกดูภาพรวมของการประเมินทั้งหมดในระบบได้ เช่น ข้อมูลที่นำเข้าในการประเมินในครั้งที่ 1 จะแสดงข้อมูลเป็นกราฟแท่งเพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยรายหมวดครบทั้ง 47 อำเภอ พร้อมทั้งสามารถเลือกดูภาพรวมการประเมินเป็นรายจังหวัดได้เพิ่มเติมด้วยและเมื่อถึงการประเมินครั้งถัดไปก็สามารถดูแนวโน้มก่อนการประเมินในแต่ละจังหวัดได้

 

ผลการประเมินแต่ละอำเภอ 47 อำเภอ ใน 5 จังหวัด และการสะท้อนข้อมูล ปัญหา และอุปสรรคจากการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ

จังหวัดพิษณุโลก

1.     ผลการประเมินระบบสุขภาพอำเภอจังหวัดพิษณุโลก (ภาคผนวก ท)

2.     การสะท้อนข้อมูล ปัญหาและอุปสรรคจากการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอพบว่า

2.1.1       เครื่องมือการประเมิน ใช้ภาษาที่เข้าใจยาก

2.1.2       การประเมินระบบสุขภาพอำภอการให้คะแนนของคณะกรรมการจะเป็นลักษณะรายบุคคลตามความเห็นของตนเองและนำคะแนนที่ได้มารวมกันและหาค่าเฉลี่ย

จังหวัดสุโขทัย

1.     ผลการประเมินระบบสุขภาพอำเภอจังหวัดสุโขทัย (ภาคผนวก ท)

2.     การสะท้อนข้อมูลปัญหาและอุปสรรคจากการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอพบว่า

2.1 ควรมีเวทีในการชี้แจงผลการประเมินให้กับพื้นที่รับประเมิน

จังหวัดอุตรดิตถ์

1.     ผลการประเมินระบบสุขภาพอำเภอจังหวัดอุตรดิตถ์

2.     การสะท้อนข้อมูลปัญหาและอุปสรรคจากการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอพบว่า

2.1  ควรทบทวนเนื้อหาในเกณฑ์ประเมินเพื่อพัฒนาให้ผู้รับการประเมินมีความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น

2.2  ควรทบทวนวิธีการในการประเมินเพิ่มเติม

จังหวัดตาก

1.     ผลการประเมินระบบสุขภาพอำเภอจังหวัดตาก 

2.     การสะท้อนข้อมูลปัญหาและอุปสรรคจากการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอพบว่า

2.1  พื้นที่รับการประเมินยังมีความเข้าใจต่อเกณฑ์การให้คะแนนของแต่ละอำเกอไม่ตรงกัน ควรมีการแบ่งระดับคะแนนให้ชัดเจน

จังหวัดเพชรบูรณ์

1.     ผลการประเมินระบบสุขภาพอำเภอจังหวัดเพชรบูรณ์ (ภาคผนวก ท)

2.     การสะท้อนข้อมูลปัญหาและอุปสรรคจากการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอพบว่า

2.1   ผู้ประเมินยังไม่เข้าใจในแบบประเมินทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการตั้งคำถามสำหรับ
การเก็บข้อมูล 

2.2     ผู้ประเมินและพื้นที่รับการประเมินยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของDistrict Health System กับ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

2.3     ระยะเวลาในการประเมินไม่เพียงพอเพื่อในการเก็บข้อมูลทั้งหมด

2.4   กลุ่มตัวอย่างที่เข้ามาร่วมในการประเมินยังไม่ครอบคลุมครบทุกประเด็นที่จะนำไปสู่
การสร้างความเข้าใจในกิจกรรมที่ดำเนินงาน

2.5     ประเมินโดยเก็บแบบสัมภาษณ์กลุ่ม ( Fogus group ) จะมีเพียง 6–12 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะต้องมีความคล้ายคลึงกันทางความรู้ ประสบการณ์ และการสื่อสารที่สามารถสร้างความเข้าใจตรงกัน

2.6   ควรเพิ่มระเบียบวิธีการวิจัยแบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และ
การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม

 

การแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ด้านการประเมิน
ระบบสุขภาพอำเภอ มีข้อคิดเห็นดังนี้

1.     คณะกรรมการฯ เสนอว่าควรทำการประเมินร่วมกันเพื่อที่จะได้พิจารณาและรับทราบข้อมูลร่วมกัน

2.     ควรพิจารณาหาโอกาสพัฒนาของแต่ละพื้นที่ในเชิงระบบทั้ง 7 หมวด เพื่อที่จะได้นำมาวางแผนพัฒนาต่อไป

3.     ทีมประเมินควรวิเคราะห์ปัญหาทั้ง 47อำเภอ ว่ามีข้อใดที่เป็นปัญหาที่พบทุกพื้นที่เพื่อเสนอให้ทางส่วนกลางแก้ไข เช่น ปัญหาทางด้านระบบสารสนเทศซึ่งเป็นปัญหาเกือบทุกพื้นที่ ดังนั้น

ควรพิจารณานำมาเป็นวาระของระดับเขตในการแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไป

4.     ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้งบประมาณสนับสนุนในแต่ละอำเภอเพื่อพัฒนาตามแผนงานที่เป็นการแก้ไขปัญหาในส่วนที่แต่ละอำเภอยังขาดการพัฒนา

5.     ควรปรับเนื้อหาเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ และวิธีการสื่อสารให้มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณะกรรมการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นจากการลงพื้นที่ประเมินว่าการประเมินในหมวดที่ 1 ระบบอภิบาลที่รวมถึงภาวะผู้นำ และหมวดที่ 7 ระบบสุขภาพชุมชน ในบางอำเภอมีการเชิญนายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา จึงทำให้การประเมินระบบสุขภาพอำเภอเห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจน และในหมวดที่ 3 กำลังคนด้านสุขภาพ และหมวดที่ 4 ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ เป็นการนำเสนอในภาพของภาคส่วนสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่

ส่วนข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกภาคส่วนสาธารณสุขยังไม่ชัดเจน ยังขาดข้อมูลสถิติที่สำคัญในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มสุรา การออกกกำลังกาย เป็นต้น ส่วนเรื่องของการนำผลการประเมินของแต่ละจังหวัดมาเปรียบเทียบกันอาจทำได้ยาก เนื่องจากทีมประเมินเป็นคนละทีม อาจเปรียบเทียบกันได้ภายในจังหวัดเท่านั้น

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นจากการลงพื้นที่ประเมินว่าการประเมินในหมวดที่ 1 ระบบอภิบาลที่รวมถึงภาวะผู้นำ ในแต่ละอำเภอมีการนำเสนอประเด็นปัญหาที่เป็นลักษณะเชิงประเด็นและนำเสนอปัญหาที่เป็นลักษณะเชิงระบบ โดยมีข้อมูลสถิติสนับสนุนที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้คะแนนที่ได้จากการประเมินมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการประเมินตามเกณฑ์คู่มือนี้คือเกณฑ์ประเมินจะสามารถประเมินลงลึกไปถึงระดับใดได้และในเรื่องของการเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างจังหวัดอาจทำได้ยาก แต่สุดท้ายมีความจำเป็นต้องนำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อจะได้หารูปแบบของการประเมินที่เป็นลักษณะเดียวกัน

นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์

นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้เสนอความเห็นในเรื่องของการประเมินว่า ในบางข้อที่ผู้ประเมินหรือผู้รับประเมินยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนอาจเป็นเพราะภาษาที่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากมีเวลาเตรียมการค่อนข้างจำกัดและอาจจะยังใช้เวลาทำความเข้าใจกับทีมประเมินไม่มากพอ เมื่อเทียบกับการประเมินอย่างอื่น เช่น การประเมิน Hospital Accreditation (HA) เป็นการประเมินเชิงคุณภาพเหมือนกัน แต่ระยะเวลาในการประเมินแตกต่างกัน โดยการประเมิน HA กรรมการจะมีโอกาสได้รับทราบข้อมูล Hospital profile ก่อน จึงทราบว่าควรจะตรวจประเมินในประเด็นใด ซึ่งการประเมินระบบสุขภาพอำเภอในครั้งนี้มีระยะเวลาในการศึกษาข้อมูลจำกัดและในขณะเดียวกันใช้เวลาในการประเมินเพียง 1 วัน บางแห่งก็ต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนาน ทำให้ผู้ประเมินได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาในการตรวจประเมิน ส่วนเรื่องของทีมประเมินอาจจะต้องเพิ่มการอบรมเพื่อฝึกฝนทักษะในการประเมินเพิ่มขึ้น และในส่วนของเกณฑ์การประเมินหากผู้ประเมินและผู้รับประเมินส่วนใหญ่มีความเห็นว่ามีความไม่ชัดเจนก็สามารถนำมาปรับใหม่ได้

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่า ควรวิเคราะห์ข้อมูลส่วนที่ได้มาก่อน หลังจากนั้นอาจจะไปสัมภาษณ์หรือไปขอข้อมูลเพิ่มในกรณีที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน เน้นข้อมูลเป็นรายอำเภอ รายจังหวัด และกระบวนการหลังจากนั้นจะเป็นการส่งคืนข้อมูลให้กับพื้นที่ รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาที่พบเพื่อที่จะได้จัดทำแผนพัฒนาและจัดสรรงบประมาณให้กับแต่ละพื้นที่มากน้อยตามลักษณะของปัญหา

 

นายแพทย์ปองพล วรปาณิ
นายแพทย์ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย เสนอความคิดเห็นว่า 
การลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอควรมีผู้ประเมินจากส่วนกลางเป็นลักษณะการประเมิน
ข้ามจังหวัด หรือทีมประเมินของเขตสุขภาพ เพื่อลดอคติ จากการลงพื้นที่แบบลักษณะเดิมที่ลงพื้นที่เป็นทีมของจังหวัดใครจังหวัดมัน
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการดำเนินงานระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ อาจทำให้ผู้รับการประเมินมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเราให้ความสนใจไปที่ พชอ. หากเราให้ความสนใจไปที่เรื่องของการทำงานของพชอ. นั่นจะเป็นเรื่องเดียวกันกับการดำเนินงานระบบสุขภาพอำเภอ ฉะนั้น ทั้งการดำเนินงานระบบสุขภาพอำเภอ และการทำงานของ พชอ.จึงเป็นเรื่องเดียวกันและไม่ใช่เรื่องใหม่ สามารถดำเนินงานไปพร้อมกันได้ ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน สิ่งที่ควรดำเนินต่อไป คือ อาจจะต้องมีการปรับให้เครื่องมือมีความสมบูรณ์ขึ้น เช่น ในเรื่องของเกณฑ์ เรื่องของภาษา และทีมประเมินซึ่งเดิมเป็นผู้ประเมินในพื้นที่เดียวกันกับผู้รับการประเมิน หลังจากนี้ควรมีทีมประเมินกลางของเขตสุขภาพที่ 2 เพื่อให้การประเมินเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ดร.ศิริลักษณ์ โกวิทยานนท์
ดร.ศิริลักษณ์ โกวิทยานนท์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ เสนอความคิดเห็นว่าควรพิจารณาทำการวิจัยเพิ่มเติมคู่ขนานกันไป เพื่อศึกษารูปแบบที่เป็นภาพรวมของเขต รวมถึงผู้ประเมินแต่ละจังหวัดควรทบทวนในประเด็นของคะแนนที่ให้สอดคล้องกับบริบทหรือไม่
นายมนัสศักต์ มากบุญ
นายมนัสศักต์ มากบุญ สาธารณสุขอำเภอบางระกำ เสนอความคิดเห็นว่า ในเรื่องของคณะกรรมการ พชอ. ในแต่ละอำเภออาจจะมีความเข้าใจที่ยังไม่ชัดเจน ควรมีการรวบรวมคำถามที่ต้องทำความเข้าใจออกมาก่อน และปรับให้สมบูรณ์อีกครั้ง 
นายแพทย์ภูวดล พลพวก
นายแพทย์ภูวดล พลพวก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางระกำ เสนอความคิดเห็นว่านายอำเภอต้องเข้าใจ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. หรือ เทศบาล ต้องร่วมดำเนินการด้วย หากหน่วยงานภายนอกภาคส่วนสาธารณสุขไม่เข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่เข้าใจในการดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอนั้นแล้ว การดำเนินการในภาพรวมจะไม่เป็นผล ซึ่งการประเมินระบบสุขภาพอำเภอนี้จะสะท้อนไปถึงเรื่องของเชิงนโยบายส่วนกลาง เพื่อจัดทำเป็นวาระของจังหวัดโดยผ่านทางผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ว่าราชการจังหวัด
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่าสิ่งที่พบคือ ถ้านายอำเภอมีความเข้าใจเป็นอย่างดีจะทำให้มีโอกาสพัฒนาเพิ่มมากขึ้นหรือควรมีวิธีการนำเสนอไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องของนโยบาย พชอ. เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ดร.กิตติพัทธ์ เอี่ยมรอด
ดร.กิตติพัทธ์ เอี่ยมรอด นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เสนอความคิดเห็นว่า ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลค่อนข้างน้อย ดังนั้นจึงเสนอว่าควรแบ่งผู้ประเมินเป็น 2 ทีมแล้วแยกกันลงพื้นที่ จากนั้นนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกันในที่ประชุม ซึ่งจะได้ประเด็นที่เพิ่มมากขึ้นหรืออาจจะพิจารณาสุ่มลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานมาก่อนแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกัยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)
ดร.ดลรวี สิมคำ
 ดร.ดลรวี สิมคำ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เสนอความคิดเห็นว่า ควรมีการทำวิจัยคู่ขนานกันไปกับการประเมิน เนื่องจากการลงพื้นที่มีทั้งพื้นที่ที่เป็นต้นแบบที่ดีและพื้นที่ที่ยังต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งจะเป็นการวิจัยในลักษณะการหากระบวนการดำเนินการในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่ดี รวมถึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินให้มีความเข้าใจในคู่มือเกณฑ์ประเมิน การใช้คำถามแต่ละประเภทเพื่อให้ได้ข้อมูลจากการประเมินที่ถูกต้องน่าเชื่อถือเพื่อนำไปใช้ในส่วนของการวิจัยต่อไปได้
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่า หากมีต้นแบบที่ดีที่มีการดำเนินงานในเรื่องของระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ คือ ได้คะแนนเต็มทั้ง 7 หมวด ควรนำมาเสนอเป็นรูปธรรมให้ผู้ประเมินมองเห็นภาพรวมให้ชัดเจนขึ้นว่าสิ่งที่ดีในแนวคิดเชิงระบบเป็นอย่างไร
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เสนอความคิดเห็นว่า เกณฑ์การประเมินที่ได้มานั้นเป็นการเขียนเชิงทฤษฏี จากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับทั้ง 47 อำเภอ ว่ามีพื้นที่ใดที่มีการดำเนินงานเป็นไปตามทฤษฎีหรือไม่อย่างไร ส่วนคะแนนที่ได้จะมากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ควรขยายความว่าที่ได้คะแนนมากหรือน้อยนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ เสนอความคิดเห็นว่าการประเมินระบบสุขภาพอำเภอเป็นการใช้เกณฑ์ประเมินเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องค้นหาการดำเนินงานที่ดีของแต่ละอำเภอเทียบกับเกณฑ์ที่ได้ว่าคืออะไร และนำผลการดำเนินงานที่ได้มาถอดบทเรียน เพื่อให้ผู้ประเมินมีความเข้าใจมากขึ้น
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เสนอความคิดเห็นว่า ระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์คือการทำให้เกิดสุขภาพที่ดีกับประชาชน ในระดับอำเภอจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่เรียกว่าระบบสุขภาพระดับอำเภอแต่เพียงในระดับอำเภอนั้นไม่สามารถสร้างสุขภาพให้ประชาชนด้วยตัวเองได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงการดำเนินงานกับภาคส่วนอื่น ๆ 
เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข กับเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นอีก 2 กลไกที่จะมีผลต่อการทำงานของระบบสุขภาพอำเภอจึงต้องทำความเข้าใจว่าเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งครอบคลุมทั้ง 47 อำเภอ ในขณะเดียวกันเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะมองสุขภาพของประชาชนเป็นหลักและขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เค้าเรียกว่า Soft power คืออำนาจที่ไม่ได้อิงกับระบบราชการ ไม่อิงกับระเบียบกฎหมาย และในขณะเดียวกันเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขจะขับเคลื่อนด้วย Hard power คืออำนาจตามระบบราชการที่ผูกพันกันด้วยกฎหมายและกฎระเบียบรวมทั้งโครงสร้างในการบริหารจัดการ ขณะนี้ระบบสุขภาพอำเภออยู่ระหว่าง 2 เรื่อง ดังนั้น จึงศึกษาว่า 2 เรื่องนี้มีการดำเนินการอย่างไร เขตสุขภาพประชาชน จะเน้นเรื่องประเด็นอาหาร ประเด็นการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ และเรื่องการสร้างคุณค่าและการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชน ในขณะที่เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนตามตัวชี้วัดของกระทรวง หรือตัวชี้วัดในพื้นที่ ดังนั้นการที่ประชาชนจะมีสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ขึ้นอยู่กัย 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวของประชาชน ทั้งทางกายภาพและสังคม 2.พฤติกรรมตัวประชาชน 3.ระบบบริการสุขภาพ
รองศาสตราจารย์.ดร.สุชาติ แย้มเม่น
รองศาสตราจารย์.ดร.สุชาติ แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่า การลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ ควรมีผู้ประเมินจากส่วนกลางเป็นลักษณะการประเมินข้ามจังหวัด หรือทีมประเมินของเขตสุขภาพ เพื่อลดอคติ จากการลงพื้นที่แบบลักษณะเดิมที่ลงพื้นที่เป็นทีมของจังหวัดใครจังหวัดมันและเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล
มติที่ประชุม
ข้อมูลที่นำมาลงระบบยังเป็นข้อมูลดิบ ยังขาดการกลั่นกรองข้อมูล ซึ่งอาจจะยังบอกไม่ได้ว่าทำไมกราฟในแต่ละส่วนของแต่ละอำเภอมีคะแนนแตกต่างกัน จึงควรมีตัวแทนของผู้ประเมินแต่ละจังหวัดที่สามารถพิจารณา วิเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูลว่าอะไรคือตัวแปรที่ทำให้เกิดความแตกต่าง
1.    ควรพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของการออกรายงานข้อมูลให้มีความชัดเจนถึงผลการประเมิน
ในแต่ละอำเภอ เช่น การออกรายงานควรแสดงเหตุผลในส่วนที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนน้อย เป็นต้น
2.     กำหนดผู้ใช้ (User) ที่จะเข้าระบบโดยผู้ใช้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการประเมิน และผู้ประเมินตนเองทุกคนที่ได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลระบบจะสามารถเข้าใช้ระบบการประเมินแบบออนไลน์ได้ และข้อมูลจากการประเมินจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่เป็นกรรมการประเมิน และผู้ประเมินตนเองสามารถเข้าดูได้ 2) ส่วนของผู้ดูแลระบบที่สามารถเข้าดูได้ทั้งหมด
3.      การปรับและแก้ไขข้อมูลในระบบ กำหนดให้เฉพาะผู้ดูแลระบบและผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นควรมีการฝึกอบรมการประเมินระบบสุขภาพอำเภอให้กับผู้ประเมินเพื่อให้เกิดทักษะการประเมิน รวมไปถึงเกิดความเข้าใจในคู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอเพิ่มมากขึ้น 
4.    พิจารณาปรับเกณฑ์หรือการนิยามความหมายในการประเมินระบบสุขภาพอำเภอเพื่อให้
ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินเกิดความเข้าใจมากขึ้น
5.     เพื่อให้เกิดการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับวิธีสื่อสารทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภายนอกสาธารณสุขซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ รวมไปถึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ อาทิเช่น การพัฒนาระบบการประเมินแบบออนไลน์ เป็นต้น
6.     ควรมีการกำหนดวิธีการให้คะแนนประเมินระบบสุขภาพอำเภอให้เป็นไปในลักษณะทิศทางเดียวกัน โดยข้อสรุปคือ ผู้ประเมินควรให้มีการให้คะแนนประเมินร่วมกัน เนื่องจากคะแนนที่ได้จะเป็นคะแนนที่ได้จากการอภิปรายร่วมกันของคณะกรรมการทั้งหมดจะทำให้เกิดการมองอย่างรอบด้านมีมุมมองจากหลายภาคส่วน
7.     ภายหลังจากการลงพื้นที่ตรวจประเมินระบบสุขภาพอำเภอแล้วทางผู้ประเมินต้องมีการค้นหาจุดอ่อนในเชิงระบบ ค้นหาโอกาสพัฒนา โดยแบ่งเป็นประเด็นตามหมวดการประเมินระบบสุขภาพอำเภอ รวมถึงให้แบ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่จะส่งปัญหาให้กับทางทีมส่วนกลางรับไปดำเนินการแก้ไข อาทิเช่น ระบบด้านสารสนเทศที่ทุกอำเภอจะพบปัญหา
8.     การลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ ควรมีผู้ประเมินจากส่วนกลางเป็นลักษณะการประเมินข้ามจังหวัด หรือทีมประเมินของเขตสุขภาพ เพื่อลดอคติ จากการลงพื้นที่แบบลักษณะเดิมที่ลงพื้นที่เป็นทีมของจังหวัดใครจังหวัดมัน
9.     ควรมีการทำวิจัยจากข้อมูลที่ลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ ควบคู่ไปด้วย


...