รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ ที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 3/2561
วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 13.30 – 16.30 น.
ณ ห้องประชุมพลับพลึง ชั้น 5 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ ได้กล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 จากนั้นคณะกรรมการได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการประเมินระบบสุขภาพอำเภอ ดังนี้
การเสนอความคิดเห็นของคณะกรรมการ
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ที่ได้ทำการประเมินครบทั้ง 9 อำเภอเป็นที่เรียบร้อยแล้วทำให้ทราบว่า พื้นที่รับการประเมินจะมุ่งเน้นไปที่ District Health System ส่วนในมุมของผู้ประเมินก็มุ่งเน้นไปที่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งแท้จริงแล้วคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คือหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนอยู่ใน District Health System และยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องการการขับเคลื่อนทำให้พบว่าต้องมีการทำความเข้าใจกับทางพื้นที่เพื่อให้หน่วยงานในภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และ พชอ. นั้นประกอบไปด้วยหลายภาคส่วน จึงเริ่มต้นเก็บข้อมูลจาก พชอ. และหน่วยงานในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 เสนอ
ความคิดเห็นว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 เป็นการพัฒนาเชิงระบบซึ่งก่อน
หน้านี้ภาคสาธารณสุขดำเนินการโดยคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)
ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะในภาคส่วนสาธารณสุข ไม่ครอบคลุมถึงภาคส่วนอื่น ๆ เมื่อคณะรัฐมนตรี
มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ขึ้น จึงทำให้ภาคส่วนอื่น ๆ ได้มามีส่วนร่วมในการพัฒนามากเพิ่มขึ้น
การพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอไม่ควรเริ่มต้นที่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เรื่องไข้เลือดออก หรือเบาหวาน ควรเริ่มมจากเรื่องที่เป็นปัญหาทั่วไปในชุมชนที่ต้องให้ภาคส่วนอื่นเป็นหลักและภาคสาธารณสุขเป็นส่วนสนับสนุน เช่น ปัญหายาเสพติด หรือ เรื่องอาหารปลอดภัย จึงจะมองว่าไม่เป็นการผลักภาระให้กับหน่วยงานอื่นรับผิดชอบ
นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์
นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เสนอความคิดเห็นว่า ควรทำการสื่อความหมายให้ชัดเจนในเรื่องของ District Health System และ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเนื่องจากผู้ประเมินส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าทั้ง District Health System และ พชอ. คือเรื่องเดียวกันจึงจำเป็นต้องอธิบายในส่วนนี้ให้ชัดเจนเพราะหากผู้ประเมินมีความเข้าใจไม่ตรงกันอาจทำให้การประเมินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่า District Health System คือระบบของอำเภอซึ่งมีภาคส่วนอื่นทั้ง Health และ Non-Health มามีส่วนร่วมและมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เพิ่มขึ้นมาแต่ถึงอย่างนั้น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของ District Health System เพราะถ้ากล่าวอย่างนั้นก็จะทำให้การประเมินในส่วนหมวดที่ 2 – 7 ได้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
นางสาวอัมพวัน พุทธประเสริฐ
นางสาวอัมพวัน พุทธประเสริฐ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย และเป็นตัวแทน
ผู้ประเมินระบบสุขภาพอำเภอในเขตจังหวัดสุโขทัยซึ่งได้ลงประเมินครบทั้ง 9 อำเภอ แล้วนั้นได้ให้ข้อค้นพบว่าในจำนวน 9 อำเภอ มีประมาณ 3 อำเภอ ที่มีกระบวนการ พชอ. ทั้ง 7 หมวด ครบทุกมิติ และมีประมาณ 2 อำเภอที่ยังไม่ชัดเจน คือในพื้นที่รับประเมินมีความเข้าใจว่า พชอ.เป็นร่มใหญ่ การทำ พชอ.คือการทำตามประเด็นในคำสั่ง และประเด็นในคำสั่ง 2 ประเด็นจะขับเคลื่อนอย่างไรในหมวดที่ 2 ระบบบริการสุขภาพ และหมวดที่ 7 ระบบสุขภาพชุมชน จะนำมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ผู้ประเมินจังหวัดสุโขทัยจึงได้เรียนรู้ว่าควรให้ พชอ. ทั้ง 21 คน ได้มาเรียนรู้ร่วมกันว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดย พชอ. จะต้องขับเคลื่อนอย่างไร
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 เสนอ
ความคิดเห็นว่าไม่เพียงแต่คนทั่วไปเท่านั้นที่ไม่เข้าใจในเรื่องของ DHS ในภาคส่วนสาธารณสุขก็ยังมีความเข้าใจกันไปคนละทิศทาง การพยายามสร้างความเข้าใจของทุกคนให้ตรงกันจึงเกิดการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ขึ้นมา และเน้นว่าเป็นการพัฒนาในเชิงระบบ ส่วนเรื่องของ DHS และพชอ. ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะเป็นคนละมิติ พชอ. คือ การอภิบาลระบบ (Governance system) เป็นหนึ่งในหกระบบของ District Health System
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 ได้เสนอความคิดเห็นว่า เรื่องการพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินหลังจากประเมินให้ยกไปทำภายหลังจากการลงประเมินครบแล้ว และให้ผู้ประเมินมาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนเรื่องสื่อสารทำความเข้าใจภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นในกระบวนการลงไปประเมินใน “มหกรรมการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)” ณ The Park Hotel จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ที่ทางเขตสุขภาพที่ 2 จัดขึ้น ซึ่งมี พชอ. ทั้ง 47 อำเภอ มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ภายหลังการประเมิน เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ผลเรียบร้อยแล้วจึงไปสื่อสารเพื่อคืนข้อมูลให้กับพื้นที่ว่าพบประเด็นปัญหาอะไรบ้าง
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่า ให้ยกกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ประเมิน และการสื่อสารทำความเข้าใจภาคีที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการพัฒนาร่วมกันภายหลังจากการวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนการจัดทำเอกสารเผยแพร่อาจจะต้องให้ข้อมูลสมบูรณ์ก่อนจึงจัดทำภายหลัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่า การลงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนในเรื่องของ DHS และ พชอ. หลายอำเภอจะนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัล ประกอบกับระยะเวลาในการประเมินค่อนข้างจำกัดจึงทำให้ข้อมูลที่ได้อาจไม่ครบถ้วน
นายมนัสศักต์ มากบุญ
นายมนัสศักต์ มากบุญ สาธารณสุขอำเภอบางระกำ เสนอความคิดเห็นว่า พชอ.เพิ่งเริ่มต้นขึ้นไม่นานหน่วยงานนอกภาคสาธารณสุขที่เป็นคณะกรรมการ พชอ. จึงยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนในเรื่องของ DHS และ พชอ.
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 ได้เสนอความคิดเห็นว่า ควรเร่งการประเมินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากกระบวนการในขั้นถัดไปจะต้องทำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควรและหากมีประเด็นที่พบว่าต้องใช้งบประมาณจากภาคส่วนอื่นมาร่วมพัฒนาจะได้จัดทำแผนนำเสนอต่อไป ในส่วนของจังหวัดสุโขทัยที่ได้ประเมินครบเรียบร้อยทั้ง 9 อำเภอ จึงอยากให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประเมินว่าสิ่งที่พบคืออะไร มีปัญหาอะไร ติดขัดอย่างไร ในกระบวนการประเมิน การประเมินในขั้นนี้เพื่อให้ทราบว่าระบบสุขภาพอำเภอในปัจจุบันอยู่ในระดับใดโดยใช้เกณฑ์คู่มือในการวัดผลเมื่อพบส่วนที่ยังขาดการพัฒนาก็ให้แต่ละอำเภอจัดทำแผนพัฒนามานำเสนอจากนั้นจึงจะจัดสรรงบประมาณให้บางส่วนในการพัฒนาตามความมากน้อยของปัญหาที่พบจากนั้นติดตามและประเมินผลการพัฒนาเป็นระยะและประเมินว่าจากงบประมาณในการพัฒนาที่อำเภอได้รับส่งผลที่ดีขึ้นอย่างไร
ดร.ดลรวี สิมคำ
ดร.ดลรวี สิมคำ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เสนอความคิดเห็นว่า ในระหว่างการประเมินระบบมีทั้งผู้ประเมินและผู้รับการประเมินที่เข้าใจและ
ไม่เข้าใจ จึงควรให้ทีมประเมินทำความเข้าใจในประเด็นที่จะประเมินให้ตรงกัน
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่าให้ผู้ประเมินที่ได้ทำการประเมินเรียบร้อยแล้วทำการปรับคู่มือเกณฑ์ประเมินในส่วนที่ยังไม่ชัดเจน
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 ได้เสนอความคิดเห็นว่าเนื่องจากผู้ประเมินได้ใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินนี้แล้วในการประเมินหากมีการปรับเกณฑ์ประเมินในระหว่างนี้อาจเกิดการเปรียบกัน และทำให้ผลที่ได้จากการประเมินไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันเมื่อทำการประเมินและได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจึงนำมาถอดบทเรียนหากพบความไม่ชัดเจนในเรื่องใดให้พิจารณาในภายหลัง
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอความคิดเห็นว่าเพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงเห็นสมควรให้ใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินนี้ไปก่อนเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจึงนำมาถอดบทเรียนร่วมกันและปรับปรุงไปในแนวทางที่ดีขึ้น
นายแพทย์ภูวดล พลพวก
นายแพทย์ภูวดล พลพวก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางระกำเสนอความคิดเห็นว่า หมวดที่ 1 เรื่องของการอภิบาลระบบ หากนายอำเภอมีความเข้าใจในเรื่องนี้ก็จะทำให้การประเมินได้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ ส่วนในหมวดที่ 2 – หมวดที่ 7 เป็นเรื่องของภาคสาธารณสุขเกือบทั้งหมด สุดท้ายอาจจะต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมจากในภาคสาธารณสุข
ดร.พรรณสิริ กุลนาถสิริ
ดร.พรรณสิริ กุลนาถสิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย เสนอความคิดเห็นว่า
จากการที่ผู้ประเมินจังหวัดสุโขทัยได้ลงพื้นที่เรียบร้อยแล้วควรนำเสนอแนวทางในการประเมินเพื่อเป็นต้นแบบให้กับผู้ประเมินในจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ในระหว่างการประเมิน หรือกำลังจะดำเนินการประเมิน และการประเมินระบบสุขภาพอำเภอจะทำได้สะดวกขึ้นหากมีการเสนอนโยบาย พชอ. ไปในระดับจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการตามสายบังคับบัญชาโดยอาจให้นายแพทย์สาธารณสุขแต่ละจังหวัดช่วยในเรื่องการประสานและทำความเข้าใจ
มติที่ประชุม
1. ควรมีการทำความเข้าใจกับผู้ประเมินและผู้รับการประเมินให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ
2. การพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินให้ยกไปทำภายหลังจากการประเมินครบทั้ง 47 อำเภอเรียบร้อยแล้วโดยให้ผู้ประเมินร่วมกันแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการลงพื้นที่ประเมิน ทั้งในเรื่องของการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมิน และวิธีการประเมิน เพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. การสื่อสารทำความเข้าใจภาคีที่เกี่ยวข้องให้ยกไปทำภายหลังจากการวิเคราะห์ข้อมูล และ
คืนข้อมูลให้กับพื้นที่รับประเมินว่ามีข้อค้นพบในประเด็นใดที่ควรพัฒนาเพื่อให้พื้นที่จัดทำเป็นแผนการพัฒนาต่อไป
4. การปรับเกณฑ์คู่มือการประเมินระบบสุขภาพอำเภอควรทำภายหลังจากการลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอครบทั้ง 47 อำเภอ
5. การประเมินระบบสุขภาพอำเภอจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีหากมีการเสนอนโยบาย พชอ. ไปในระดับจังหวัดได้
6. เกณฑ์การประเมินในหมวดที่ 1 เรื่องการอภิบาลระบบให้มองเรื่องของ พชอ. เป็นหลักส่วนหมวดที่2 – หมวดที่ 7จะเป็นเรื่องของระบบสุขภาพอำเภอ