รายงานการลงพื้นที่ทดสอบการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ
วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2561
ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก และที่ว่าการอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
การลงพื้นที่ทดสอบการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอในวันพฤหัสบดีที่ 10พฤษภาคม 2561 ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก และที่ว่าการอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีการวางแผนกำหนดการลงพื้นที่ ดังตาราง
รายงานการลงพื้นที่ตรวจประเมินตามคู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ
วันที่ 11 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง และ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองบางระกำ
สืบเนื่องจากในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ได้เสนอให้ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบประเมินทำการลงพื้นที่เพื่อทดสอบการใช้คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอใน 2 อำเภอด้วยกันคือ อำเภอเมือง และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้ทราบระดับและส่วนขาดการพัฒนา และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขให้ดีขึ้นรวมถึงเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอต่อไป โดยในการลงพื้นที่แต่ละอำเภอมีรายละเอียดดังนี้
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง
ทางอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมิน ได้ทำการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการลงตรวจประเมินตามเกณฑ์คู่มือระบบสุขภาพอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์ในการลงตรวจเยี่ยมประเมินในพื้นที่คือเพื่อให้ทราบระดับและส่วนขาดการพัฒนา และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขให้ดีขึ้นและสิ่งที่ต้องใช้ควบคู่ไปกับเกณฑ์ประเมินคือการพิจารณาบริบทของแต่ละอำเภอ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัญหาและความเสี่ยงที่สำคัญโดยเน้นการทำความเข้าใจในการทำคู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอที่มีเกณฑ์อยู่ 5 ระดับ ทั้งนี้มีตัวแทนในคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) เข้าร่วมประชุม อาทิเช่น สาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก ตัวแทนจากโรงพยาบาลพุทธชินราช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นายกเทศมนตรีพลายชุมพล โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานโดยสาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลกและตัวแทนในคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอดังนี้
สาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก
สาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก ได้ทำการชี้แจงประเด็นที่มาของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเมืองพิษณุโลกมีการทำงานประสานงานกันและจะมีการจัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 โดยมีการกำหนดประเด็นในการประชุม ดังนี้
1. การกำหนดทิศทางในการดำเนินงานของอำเภอ โดยพบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลในภาคส่วนของสาธารณสุข การค้นหาปัญหาหรือข้อมูลในหน่วยงานภาคส่วนอื่นยังไม่มีการนำมารวบรวมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน และเมื่อพิจารณาจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าจะใช้ข้อมูลชุดเดิมที่ได้จากระบบสุขภาพระดับอำเภอ(District Health System : DHS)ที่ได้มีระบบการดำเนินงานขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้พบปัญหาและความเสี่ยงที่สำคัญในพื้นที่ อาทิเช่น ประเด็นเรื่องอาหารปลอดภัย กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(Non Communicable diseases :NCD) การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อุบัติเหตุร่วมกับจะเพิ่มการพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เช่น ด้านการดูแลสารเคมีของเกษตรกรในอำเภอเมืองหรือปัญหาด้านสุขภาพของคนเมือง
2. การสร้างความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนสาธารณสุขและนอกภาคส่วนสาธารณสุข เน้นการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ
3. แนวทางการคัดเลือกบุคคลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ โดยเบื้องต้นได้ใช้ระเบียบเป็นตัวคัดเลือก โดย คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) และพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอซึ่งคณะกรรมการ พชอ. มี 21 คน ประกอบด้วย นายอำเภอ (ประธาน) จำนวน 1 คน ภาครัฐ (ส่วนท้องถิ่นและท้องที่) จำนวน 6 คน เอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพ จำนวน 6 คน ประชาสังคม (ประชาชน/ภาคประชาชน) จำนวน 7 คน และสาธารณสุขอำเภอ (เลขานุการ) จำนวน 1 คน
จากนั้นสาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก ได้นำเสนอการวิเคราะห์ตนเองในหมวดที่ 3 กำลังคนด้านสุขภาพ โดยพบว่า กำลังคนในภาคส่วนสาธารณสุขยังไม่เพียงพอ แต่สามารถดำเนินงานได้ โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานจะมีการทำงานทั้งกำลังคนในภาคส่วนสาธารณสุขและภายนอกสาธารณสุข โดยมีการทำงานร่วมกันกับผู้บริหารในส่วนของตำบล อาทิเช่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานของปศุสัตว์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้ร่วมกัน
ตัวแทนจากโรงพยาบาลพุทธชินราช
ตัวแทนจากโรงพยาบาลพุทธชินราช เสนอว่า ในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ พชอ. ควรจะเน้นไปที่ผู้ดำเนินงานมากกว่าระดับผู้บริหาร เพื่อให้เกิดการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ควรการทำงานเป็นทีม หรืออาจพิจารณาจัดตั้งทีมคณะทำงานเป็นลักษณะ อนุกรรมการย่อย ในการดำเนินงาน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เสนอว่า ปัญหาในการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอนั้น เกิดจากตัวโครงสร้างการบริหาร และงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจรได้ รวมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่สามารถประสานงานได้อย่างราบรื่น เช่น ปัญหาการทำงานที่ไม่ตรงกัน
นายกเทศมนตรีพลายชุมพล
นายกเทศมนตรีพลายชุมพลได้นำเสนอประเด็นการจัดการกับปัญหาร่วมกันกับหน่วยงานภายในสาธารณสุข เช่น การป่วยเป็นโรคของประชาชนจะดำเนินการอย่างไรให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงทั้งในเชิงป้องกันปัญหา และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีร่วมกับการรณรงค์ในหลายด้าน อาทิ ร้านค้า มีการตรวจสอบสารปนเปื้อนในห้างสรรพสินค้าจนถึงระดับครัวเรือน รณรงค์ลดการใช้โฟมในการบรรจุอาหาร เป็นต้น จากนั้นได้นำเสนอประเด็นการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานภายในสาธารณสุขในด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียงซึ่งได้รับความร่วมมือจากทางโรงพยาบาลพุทธชินราชในการให้การฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน(อสม) มีการส่วนร่วมของภาคประชาชนการจัดทำโครงการบิณฑบาตความทุกข์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกิจกรรมจากวัดสู่ประชาชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี
ที่ว่าการอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ในการตรวจประเมินระบบสุขภาพอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
มีเจ้าหน้าที่ของทางอำเภอบางระกำ เข้าร่วมประชุม อาทิเช่น นายอำเภอบางระกำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางระกำ สาธารณสุขอำเภอบางระกำ นายกเทศมนตรีบางระกำเมืองใหม่ รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางระกำ ประธานอสม.อำเภอบางระกำ รักษาราชการแทนปศุสัตว์อำเภอบางระกำ โดยมีการนำเสนอ ดังนี้
นายอำเภอบางระกำ
นายอำเภอบางระกำได้มีการนำเสนอโครงสร้าง พันธกิจ หน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มีการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน โดยมีประเด็นที่เป็นปัญหาสุขภาพในพื้นที่ที่สำคัญคือ
1. อุบัติเหตุ
2. โรคพิษสุนัขบ้า
3. การจัดการกับความยากจนของประชาชนในพื้นที่
ซึ่งในแต่ละประเด็นปัญหามีการประสานงานความร่วมมือกันในพื้นที่ทั้งในภาคส่วนสาธารณสุขและภายนอกภาคสาธารณสุข มีการจัดตั้งอนุกรรมการย่อยมารองรับการดำเนินงานตามประเด็นปัญหา และมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะผ่านการประชุมร่วมกัน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางระกำ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางระกำ ได้นำเสนอปัญหาสุขภาพในพื้นที่อำเภอบางระกำ ซึ่งได้แก่ งานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กลุ่มโรควัณโรค กลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง และโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีการขับเคลื่อน
การดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน พชอ. มีการกำหนดรายการปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้ทราบปัญหาต่าง ๆ ในอำเภอ และมีการกำหนดหัวข้อวาระที่สำคัญ กำหนดผู้รับผิดชอบหลักและผู้รับผิดชอบรอง มีการกำหนดตัวชี้วัดซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการพิจารณาตัวชี้วัดเพื่อให้เกิดการวัดอย่างต่อเนื่องและชัดเจน การทำงานภาคีเครือข่ายเป็นไปในแนวราบแต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์
ในด้านของหมวดการนำและการอภิบาลระบบมีการแลกเปลี่ยนประเด็นกับทางหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการเพื่อให้ทราบทิศทางของประเด็นที่จะมีการพัฒนาร่วมกันและ
มีการจัดเตรียมข้อมูลสำคัญพร้อมบุคลากรในการให้สัมภาษณ์เรียบร้อยแล้วในด้านหมวดระบบบริการสุขภาพ ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมามีการดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอไปบางส่วนแล้วผ่านการใช้เกณฑ์ประเมิน UCCARE ซึ่งการดำเนินการผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอชุดใหม่นี้เป็นการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
นายกเทศมนตรีบางระกำเมืองใหม่
นายกเทศมนตรีบางระกำเมืองใหม่ เสนอว่า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ควรมีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้รองรับกับการตรวจประเมินให้ชัดเจน การดำเนินการตามทิศทางควรเป็นการทำงานที่เป็นลักษณะทีมทำงานย่อย เพื่อให้สามารถเข้าถึงปัญหาและจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที มีการกำหนดตัวชี้วัดที่วัดได้ แต่ทั้งนี้พบข้อจำกัดในด้านความเข้าใจในเนื้อหาของการประเมินจึงเสนอว่าควรมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในพื้นที่ทำการรับเรื่องและรายงานผลการดำเนินการตามข้อเท็จจริง
เช่น อาจพิจารณาให้มีทนายเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้แทน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลที่รายงานไม่เป็นข้อเท็จจริง เช่น โรคพิษสุนัขบ้ามีการประเมินว่าเป็นปัญหาทำให้ผลการประเมินไปในทิศทางที่มีแนวโน้มไม่ดีร่วมกับผู้ประเมินมองประเด็นการประเมินที่แตกต่างออกไปทำให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความไม่เข้าใจกับคนในพื้นที่
รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางระกำ
รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางระกำ เสนอว่า การดำเนินงานในประเด็นปัญหาสุขภาพระดับอำเภอนั้นจะเน้นทางด้านสถิติแต่ไม่ได้ประเมินผลด้านผลสัมฤทธิ์ โดยในการดำเนินงานด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติที่ผ่านมาของการเกิดอุบัติเหตุจะมีจำนวนที่ลดลง ซึ่งที่ผ่านมาทางส่วนกลางรับทราบปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ แต่พบว่าการแก้ปัญหายังไม่ชัดเจน ดังนั้นเพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ควรต้องมีการปรับกระบวนการในการดำเนินการแก้ไขรวมถึงหาแนวทางแก้ไขร่วมกันในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอว่า ในคู่มือเกณฑ์ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ มีระดับของการประเมินแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ถึง 5 ระดับ โดยถ้าพิจารณาดูในระดับที่ 4 ของเกณฑ์ประเมินจะมีคำอธิบายไว้ถึงการกำหนดการป้องกันของการปฏิบัติที่ไม่ตรงกันและอาจจะเกิดผลเสียได้ ยกตัวอย่างเช่น
การรายงานผลดำเนินการในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะมีการรายงานผลที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้เกิดระบบการทำงานที่ตรงกันและมีการใช้ชุดข้อมูลสถิติร่วมกันได้ทางหน่วยงานจะต้องมีการวางระบบการจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าใจที่ตรงกันและสามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้
สาธารณสุขอำเภอบางระกำ
สาธารณสุขอำเภอบางระกำ เสนอว่าในการดำเนินการตามประเด็นปัญหาในพื้นที่จะมีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ และมีการติดตามผลการดำเนินงานร่วมกันผ่านการประชุม เพื่อให้รับทราบความก้าวหน้าและเป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน
ประธานอสม.บางระกำ
ประธาน อสม. บางระกำ เสนอว่าในประเด็นปัญหาในพื้นที่การสื่อสารลงสู่ประชาชน บางเรื่องก็สามารถดำเนินการสื่อสารได้โดยตรง แต่บางประเด็นปัญหาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีผลกระทบหลายด้าน เช่น ประเด็นยาเสพติดไม่สามารถสื่อสารได้โดยตรง หรือประเด็นปัญหาไข้เลือดออกสื่อสารได้แต่ผลการดำเนินการอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บางประเด็นในการดำเนินการติดปัญหาด้านงบประมาณรวมถึงปัญหาด้านการควบคุมกำกับติดตามจากหน่วยงานอิสระ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
รักษาราชการแทนปศุสัตว์อำเภอบางระกำ
รักษาราชการแทนปศุสัตว์อำเภอบางระกำ เสนอว่า การดำเนินการตามประเด็นปัญหาในพื้นที่ต้องให้ความสำคัญในด้านกระบวนการดำเนินการ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ยังมีปัญหาด้านงบประมาณ
ในการเบิกจ่าย การจัดหาวัคซีนที่บางช่วงเกิดการขาดชั่วคราว รวมถึงการประชาสัมพันธ์การสร้าง
การรับรู้ของประชาชนในเรื่องการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน
สุดท้ายก่อนการปิดประชุมทางคณะอนุกรรมการได้แจ้งให้ทางหน่วยรับการประเมินทราบ
ถึงจะมีการพัฒนาคู่มือเกณฑ์ประเมินแบบออนไลน์ในระยะถัดไป ทั้งนี้ผลการประเมินระบบสุขภาพอำเภอนี้จะใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ได้เพิ่มเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดการพัฒนาและเพื่อ
เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น