รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร โครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 1/2562
วันที่ 10 มกราคม 2562 เวลา 09.00 – 13.00 น. ณ ห้องประชุม CC2-414 ชั้น 4
อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
เปิดการประชุมโดย : นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
การดำเนินโครงการที่ผ่านมานั้น (งวดที่1-3) เป็นไปอย่างเรียบร้อยซึ่งในก้าวต่อไปนี้ ประเด็นสำคัญคือ การส่งข้อมูลการประเมินกลับไปยังอำเภอทั้ง 47 อำเภอ เพื่อได้ทำการวางแผนพัฒนาพร้อมทั้งเสนอแนวทางกลับมาจากนั้นมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไป
ทั้งนี้สิ่งที่ทางทีมงานโครงการฯมุ่งหวัง คือ การไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจากโครงการนี้เพียงอย่างเดียวอาจจะต้องเลือกประเด็นสำคัญ หรือ ปัญหาที่คิดเห็นตรงกัน ที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขได้ ท้ายที่สุดเมื่อเสร็จสิ้นโครงการภายใน 3 ปีนี้เกิดการพัฒนาให้สัมฤทธิ์ได้เป็นรูปธรรมร่วมกันโดยต้องยอมรับว่าจากการดำเนินงานนั้น ทีมงานถือว่าเป็นเรื่องใหม่และเพิ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกัน โดยให้แต่ละอำเภอนั้นคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นในโครงการโดยเฉพาะข้อเสนอแนะจากทีมประเมิน แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
เข้าสู่การประชุมตามวาระโดย: รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
หลังจากรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รศ.นพ.ศิริเกษม
ศิริลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการได้นำการประชุมตามวาระการประชุมดังนี้
วาระที่ 1 เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
1.1 การดำเนินโครงการ งวดที่ 1 – งวดที่ 3 (ส่วนการดำเนินงาน)
1.1.1 การทบทวนวรรณกรรม
1.1.2 การกำหนดกรอบการประเมิน
1.1.3 การออกแบบเกณฑ์การประเมิน
รายละเอียดในส่วนของการดำเนินโครงการงวดที่ 1 - งวดที่ 3 นั้นได้มีการทำสรุปรายงานไว้เรียบร้อยแล้วตามเอกสารแนบการประชุมโดยเริ่มตั้งแต่การทบทวนวรรณกรรมร่วมกันของทีมงานโครงการรวมถึงการกำหนดกรอบการประเมินซึ่งได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันทั้งทีมโครงการและทีมประเมินหลายรอบเพื่อกำหนดกรอบให้มีความเข้าใจง่ายและครอบคลุมที่สุดจากนั้นจึงมีการทำออกแบบเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสม
1.2 รายงานการดำเนินงานโครงการงวดที่ 1 - งวดที่ 3 (ส่วนผลลัพธ์)
การดำเนินงานที่ผ่านมางวดที่ 1 - งวดที่ 3 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการ ประชุมคณะอนุกรรมการ ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับพื้นที่ ประชุมทีมประเมิน รวมถึงการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอโดยผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ มีการประเมินผลครบทั้ง 47 อำเภอ ใน 5 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 2 ทั้งนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือเกณฑ์ประเมินด้วยเช่นกัน มีการนำข้อค้นพบมาสรุปร่วมกัน ที่สำคัญคือการวางแนวทางในการส่งข้อมูลกลับไปยัง 47 อำเภอ เพื่อเป็นต้นทุนในการวางแผนพัฒนาต่อไป
โดยมีการนำเกณฑ์มาทำเป็นข้อมูลสารสนเทศ คือ โปรแกรมการประเมินระบบสุขภาพอำเภอออนไลน์ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ประเมินระบบสุขภาพอำเภอ ปัญหาที่พบคือ การจัดทำฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศในพื้นที่ยังมีคุณภาพที่ต่ำอยู่มากพอสมควร ท้ายที่สุดคือ การให้ความสำคัญกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. ถึงแม้ว่า พชอ. ไม่ใช่เป็นทั้งหมดของระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ก็ตาม
แลกเปลี่ยนเรียนรู้และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
- นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เสนอว่า ข้อมูลที่ได้รับไปนั้น แต่ละอำเภอไม่ควรทำเฉพาะ
ของตนเองอย่างเดียว ควรมีการจับมือกันทั้งจังหวัด เปิดวงคุยกัน สร้างทีมงานร่วมกัน
ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัดเพื่อนำปัญหามาร่วมวางแผนดำเนินงานร่วมกัน
โดยขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่นอกจากนี้ควรมีการถอดบทเรียนทีมประเมิน ตัวเครื่องมือ และกระบวนการทำงานของทีม เพื่อจะเป็นแนวทางในการทำงานปีสุดท้าย ซึ่งจะต้องมี
การประเมินอีกครั้งหลังจากจบ 3 ปี จะได้มีเอกสารคู่มือ เป็นบทเรียนต่อไป
- รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวเสริมว่า ต้องขอความกรุณาให้ผู้รับผิดชอบในส่วนของข้อมูลของแต่ละอำเภอให้เข้าไปตรวจสอบและเพิ่มเติมให้ครบในระบบสารสนเทศ โครงการฯและพื้นที่ต้องมองภาพรวมใหญ่ร่วมกัน เพราะต่างคนต่างมีเจตนาที่ดีด้วยกันทุกคน ระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของพื้นที่ที่มองเห็นร่วมกันทั้งนี้ทีมประเมินอาจจะมองไม่ตรงกันสุดท้ายถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันรวมถึงการยอมรับในข้อมูลที่มาจากการประเมินเพื่อที่จะนำไปเป็นแผนงานพัฒนางบประมาณที่จะนำไปพัฒนาต่อไปนั้นจัดสรรให้อำเภอละ 50,000 บาท นอกจากนี้แต่ละอำเภออาจจะมีการเสนอแนวทางในการพัฒนาในรูปแบบภาพรวมของโครงการที่ต้องการ
ให้ทีมงานส่วนกลางไปดำเนินการให้ เช่น การพัฒนาระบบสารสนเทศ การพัฒนาศักยภาพทีมงาน พชอ. เป็นต้น
- นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เสนอว่า ปัญหาที่สำคัญ คือ ตัวเกณฑ์จากการสะท้อนของพื้นที่อาจมองว่าเป็นงานใหม่ ภาระใหม่ รวมถึงการเกิดข้อกังวลว่าประเมินแล้วไม่ผ่านจะส่งผลกลับมาสู่ตนเองทั้งนี้อาจจะมาจากการเข้าใจไม่ตรงกันเพราะเกณฑ์ที่เราทำขึ้นมานั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนา มากกว่าการตรวจสอบข้อเสีย นอกจากนี้ ควรมีการสร้างมาตรฐานร่วมกันและการสร้างทีมงานที่มีความเข้าใจร่วมกันไม่อยากให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
- นพ.ภูวนนท์ เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 2 พิษณุโลก เสนอให้มีการสร้างทีมงานในแต่ละระดับเพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาที่ตรงจุดแต่กระนั้นไม่ให้อยู่ภายใต้ระบบแนวดิ่งแบบสั่งการแต่ให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งนี้จังหวัดควรมีการตรวจสอบเบื้องต้นว่าแต่ละอำเภอควรแก้ปัญหาและพัฒนาตรงจุดไหนตามผลของการประเมินจากนั้นมีการส่งไปยังพื้นที่เพื่อจัดทำแผนเสนอขึ้นมาเพื่ออนุมัติงบประมาณ
- นพ.ภูวดล พลพวก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางระกำ เสนอว่า ควรให้ความสำคัญมากกว่าในเรื่องระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ระบบสุขภาพควรมองกว้างกว่านั้น นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งทีมติดตามประเมินผลเป็นระยะ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการปรับปรุงแก้ไขได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้เพื่อที่จะได้คอยควบคุมและกำกับแนวทางไปในทิศทางเดียวกันได้ แผนงานดำเนินการที่เกิดขึ้นควรมีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ผลักดันให้เป็นภาระเพียงแค่หน่วยงานสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว บางพื้นที่เวลาที่ทีมประเมินลงไปแล้วนำเครื่องมือชุดนี้ไปดำเนินการปรากฏว่าไม่ผ่าน ทั้งที่ผ่านมาไม่ว่าใครจะไปประเมินสามารถผ่านได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้
ต้องเข้าใจว่าเครื่องมือนี้เน้นการสร้างระบบแต่ไม่ใช่การสร้างบทบาทในรูปแบบผู้นำสั่งการ นอกจากนี้ ในเชิงการพัฒนาอย่างจริงในโลกปัจจุบันต้องสามารถวัดผลได้ มีความเป็นรูปธรรมและมีระบบ
- มั่นใจในระบบนักวิชาการแต่เราต้องยอมรับว่าบางครั้งมีการผิดเพี้ยนเชิงระบบ ที่มองว่าระบบผู้นำสั่งการสามารถคลี่คลายปัญหาและสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างบรรลุผล ซึ่งไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ไม่ยอมรับระบบการทำงานแบบแนวดิ่ง แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้ กรณีเช่น การสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันทั้งอำเภอจำเป็นจะต้องอาศัยอำนาจสั่งการ เช่น นายอำเภอ หรือ หัวหน้าหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่นกัน สรุปคือต้องอาศัย Hard Power ในบางกรณี และอาศัย Soft Power ในบางครั้งบางกรณี
- ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่า ข้อจำกัดในการดำเนินงานการประเมิน ระยะเวลาเพียงครึ่งวัน ตามหมวดการประเมินทั้ง 7 ด้าน ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารรถได้ผลลัพธ์ที่ครอบคลุมแต่กระนั้นยังมองเห็นผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นในบางหมวดของแต่ละพื้นที่ บางอำเภอมีนายอำเภอเข้าร่วมด้วยซึ่งสามารถได้มีการพูดคุย ได้เห็นแนวทาง/วิสัยทัศน์ของท่านด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ไม่อยากให้แต่ละพื้นที่เกิดข้อวิตกกังวลต่อคะแนนการประเมินที่ออกมา แต่อยากให้เกิดการทบทวนตนเอง รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนร่วมกันในจังหวัดและอำเภอ สุดท้ายให้ดูที่เนื้อหาที่บกพร่องหรือเป็นปัญหาร่วมกันเพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ตามที่ได้แจ้งไปว่าระยะเวลามีจำกัด ทีมประเมินจึงไม่สามารถลงไปประเมินได้ครบทุกหน่วย ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบ
- รศ.ดร.สุชาติ แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ของแต่ละอำเภอที่ได้ชี้แจงนั้น ยังไม่มีการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างระบบสุขภาพ รวมถึงระบบสารสนเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร ควรมีการอัพเดตข้อมูลโดยนอกเหนือจากข้อมูลด้านสุขภาพควรมีการใส่ข้อมูลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลต่อระบบสุขภาพเข้าไปด้วย
- ผศ.ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมประเมินปัญหาที่พบคือ ระยะเวลามีจำกัดควรมีการปรับปรุงวิธีการประเมินแบบใหม่ โดยให้แต่ละอำเภอส่งข้อมูลมาในระบบก่อน จากนั้นจึงค่อยลงไปในพื้นที่ เพื่อสัมภาษณ์และเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ได้รับข้อมูลมาก่อนข้างต้น นอกจากนี้ควรมีการวางรูปแบบ/วิธีการในการสัมภาษณ์และการเก็บข้อมูลที่กระชับและชัดเจนมากขึ้น
- ภก.ดร.ทรงศักดิ์ ทองสนิท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสริมว่า ควรมีการประชุมทำความเข้าใจร่วมกันก่อนในระหว่างทีมประเมินด้วยกันและมีการประชุมติดตามผลร่วมกันเป็นระยะเนื่องจากเป็นการแบ่งกันลงพื้นที่ไม่ได้ลงไปพร้อมกันทั้งหมด
- นางสาววันเพ็ญ ตันวีระพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปลักแรด อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แสดงความเห็นว่า ข้อมูลควรมีการปรับปรุงให้ทันท่วงที รวมถึงระบบสารสนเทศที่รองรับข้อมูลต้องมีคุณภาพด้วยเช่นกัน
- ดร.ดลรวี สิมคำ ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ แสดงความคิดเห็นว่า การใช้คำถาม หรือการเก็บข้อมูล ทีมประเมินบางท่านยังไม่เข้าใจ จึงส่งผลต่อการตีความทำให้ข้อมูลมีการผิดเพี้ยน หรือ คะแนนมีการลักลั่นไป ฉะนั้นควรมีการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลซ้ำเพื่อปรับปรุงให้ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้มีการจัดประชุมทีมประเมินร่วมกันอีกครั้ง นอกจากนี้กรณีของศูนย์ข้อมูลของอำเภอยังไม่มีความชัดเจน ศูนย์ข้อมูลที่มีการรวมข้อมูลจากทุกกระทรวงรวมกันนั้นยังไม่เกิดขึ้น โดยอาจจะมีการจัดตั้งไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ที่สำคัญจากการดำเนินโครงการนี้ อยากให้จัดทำสรุปบทเรียนการประเมินเพื่อนำไปเป็นบทเรียนในการเรียนรู้ต่อไป
- ดร.ศรีโสภา มีเจริญ ผู้แทน ดร.พรรณสิริ กุลนาถสิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ระยะเวลาในการประเมินผลนั้นต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้ายิ่งผู้ประเมินไม่ได้อยู่ในแวดวงเดียวกันจะยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน ทั้งนี้ระดับความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูลมีระดับความเข้มข้นต่างกันไป ต้องยอมรับในข้อมูลที่จะได้มาด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ได้มาจากการประเมินนั้น หากมีการนำไปพัฒนาต่อจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก
- นางสาวปาณิสรา แก้วบุญธรรม ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เสนอให้ทำความเข้าใจกับพื้นที่ หรือ พชอ. ให้มีความเข้าใจตรงกันว่าระบบสุขภาพอำเภอมีกรอบที่กว้างโดยเป็นการเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบคลุมหลากหลายมิติที่ส่งผลต่อสุขภาพ
1.3 ภาพรวมการดำเนินงานในระยะต่อไป (งวดที่ 4 - งวดที่ 7)
งวดที่ 4
1. การสื่อสารทำความเข้าใจกับภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายหลัก คือ การเตรียมความพร้อมในการคืนข้อมูลกลับไปยัง 47 อำเภอ เพื่อได้รับรู้รับทราบและมองเห็นปัญหาร่วมกัน
2. การพัฒนาศักยภาพผู้ประเมิน โดยเฉพาะในเรื่องการใช้โปรแกรมการประเมินระบบสุขภาพออนไลน์ให้มีความชำนาญและคล่องแคล่วตลอดจนสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อมูลของแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น
3. สรุปรูปแบบที่พึงประสงค์และแนวทางการประเมิน โดยเป็นการจัดทำเอกสารเป็นชุดคู่มือรูปแบบระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ รวมถึงแนวทางการประเมินเพื่อให้คณะทำงาน
ในระดับอำเภอและระดับจังหวัดใช้เป็นเอกสารประกอบในการดำเนินงานในพื้นที่
4. สื่อสารสาธารณะ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ภายในเขตและระหว่างเขต โดยเป็นรูปแบบเอกสารรวมถึงการสื่อสารในทุก ๆ ช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าทันกัน
5. สนับสนุนให้ทุกอำเภอจัดทำแผนพัฒนา โดยแต่ละพื้นที่เตรียมเขียนแผนพัฒนาส่งกลับมา ตามกรอบงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ อำเภอละ 50,000 บาท ทั้งนี้จะมีการพิจารณาเพิ่มลดตามความเหมาะสมเพื่อเน้นให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและตรงตามประเด็นที่ต้องการแก้ไขอย่างแท้จริง
6. ติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยมในระดับเขต/จังหวัด/อำเภอ ครั้งที่ 1 ถือเป็นภารกิจที่ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจคนทำงานในพื้นที่รวมถึงการประชุมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของโครงการร่วมกัน
7. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ
เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่พบในระหว่างการพัฒนา ตลอดจนการรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป
8. ประเมินผลการดำเนินงาน DHS ทั้ง 47 อำเภอ โดยจะเป็นการติดตามผลการดำเนินการตามแผนพัฒนา โดยทีมประเมินของเขตออกประเมินระบบสุขภาพอำเภอด้วยแบบและวิธีการที่พัฒนาจากโครงการทุกอำเภอ ซึ่งจะเป็นการประเมินผลภายหลังการพัฒนาตามแผนการพัฒนาที่แต่ละแห่งนำเสนอ
9. สื่อสารสาธารณะ เป็นการจัดเอกสารเผยแพร่องค์ความรู้ที่พบให้กับเจ้าหน้าที่ในเขตสุขภาพที่ 2 และ ระหว่างเขตสุขภาพที่ 2
10. พัฒนาโดยมุ่งเน้นอำเภอที่ยังมีช่องว่างอย่างมากในการพัฒนา โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาอำเภอที่ยังต้องการการพัฒนาภายหลังการประเมินผลจากการพัฒนาแล้ว
งวดที่ 5
1. ติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยมในระดับเขต จังหวัดและอำเภอ ครั้งที่ 2 โดยจะเป็นการติดตามและตรวจเยี่ยมการพัฒนาตามประเด็นในแผนพัฒนาของอำเภอที่ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม
2. พัฒนาศักยภาพผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ ในเขตทุกระดับ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากจะต้องมีการนำบทเรียนที่ได้จากโครงการในระยะต่าง ๆ มาขับเคลื่อนในพื้นที่ จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาศักยภาพทีมงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในขณะนั้น
งวดที่ 6
1. ติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยมในระดับเขต จังหวัดและอำเภอ ครั้งที่ 3 โดยจะเป็นการติดตามและตรวจเยี่ยมการพัฒนาตามประเด็นในแผนพัฒนาของอำเภอที่ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม
2. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอำเภอภายในเขตและนอกเขต ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประเด็น ปัญหาที่พบในระหว่างเขตสุขภาพที่ 2 และระหว่างเขตสุขภาพที่ 2
งวดที่ 7
1. ติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยมในระดับเขต จังหวัดและอำเภอ ครั้งที่ 4 โดยจะเป็นการติดตามและตรวจเยี่ยมการพัฒนาตามประเด็นในแผนพัฒนาของอำเภอที่ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม
2. ประเมินผลก่อนปิดโครงการ เป็นการรวบรวมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานและสรุปเป็นบทเรียนเพื่อเผยแพร่ต่อไป
วาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
2.1 รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 4/2561 วันศุกร์ที่ 12ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุม CC2-801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7พระชนมพรรษา 2
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ที่ประชุมมีมติ รับรองรายงาน
วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง
3.1 ความคืบหน้าการดำเนินการโปรแกรมการประเมินระบบสุขภาพอำเภอออนไลน์ เพื่อสนับสนุน
การทำงานของโครงการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2
- แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินแบบออนไลน์ และ รายงานผลการประเมิน
- ผู้รับผลมี 2 กลุ่ม คือ
- ผู้รับการประเมิน โดยมี
- เลขานุการ ทำหน้าที่ประเมิน
- กรรมการ ทำหน้าที่สรุปการประเมิน
- ประธานกรรมการ ทำหน้าที่ อนุมัติการประเมิน
- ผู้ตรวจการประเมิน รับผลการประเมินมาเพื่อตรวจสอบ
- จากการดูการใช้ระบบสารสนเทศ โดยผู้สร้างโปรแกรมแล้วทางทีมงานส่วนกลางจะจัดการอบรมให้กับทีมประเมินเพื่อได้ทำการปฏิบัติการได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญมากยิ่งขึ้น
- โดยหลักการแล้วผู้ที่ทำหน้าที่สรุปผลแบบประเมินนั้นจะเป็นเลขานุการของ พชอ. (สสอ.แต่ละอำเภอ) ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลแล้วกรอกข้อมูลใส่เข้ามาในระบบ
- ถึงแม้ว่าเป็นโปรแกรมใหม่ที่สร้างขึ้นทดลองในการจัดเก็บข้อมูลซึ่งถ้าท้ายที่สุดแล้วหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้วหน่วยงานใดหรือองค์ไหนที่มีความต้องการนำไปใช้ทางโครงการฯ มีความยินดีแต่ต้องมีการทำความเข้าใจให้ดีในข้อจำกัดเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลทั้งคนมีหน้าที่ในการ Edit ข้อมูล และผู้ที่สามารถเห็นข้อมูลเพียงอย่างเดียว ( Read only)
วาระที่ 4 เรื่องพิจารณา
4.1 การดำเนินโครงการ งวดที่ 4
4.1.1 การคืนข้อมูลให้กับพื้นที่เพื่อให้แต่ละอำเภอจัดทำแผนพัฒนา
4.1.2 แนวทางการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนา
เปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยน
- นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เสนอว่าควรมีการกำหนดกรอบระยะเวลาเป็นตัวควบคุมการดำเนินงาน เช่น ภายในกุมภาพันธ์ แต่ละอำเภอควรมีการระดมวางแผนงานร่วมกันพอถึงช่วงเดือนมีนาคม ให้เสนอแผนงานเข้ามาที่ส่วนกลางและเมษายนเริ่มดำเนินงานโครงการ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เห็นจังหวะก้าวเดินของโครงการที่ชัดเจนโดยเสนอให้ทางทีมงานส่วนกลางไปกำหนดกรอบแผนงาน (Time line) ในการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อสร้างเกณฑ์การทำงานให้กับพื้นที่
- รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ ชี้แจงว่าในส่วนของการดำเนินกิจกรรมการสื่อสารสาธารณะนั้น ไม่ใช่การมุ่งจัด Event แต่ต้องการมุ่งสร้างทำความเข้าใจให้ทั้งภาคี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้รับรู้รับทราบร่วมกัน โดยเป็นการสื่อสารลงไปเป็นระยะ นอกจากนี้การดำเนินงานวางแผนงานพัฒนานั้น ให้แต่ละอำเภอวางแผนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยงบประมาณจากโครงการนี้ให้แต่ละอำเภอเลือกประเด็น/แผนงานที่มีความเห็นร่วมกันในการมุ่งแก้ปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ให้ระบุเข้ามา โดยมีตัวชี้วัดให้เห็นชัดเจน นอกจากนั้นให้ใส่ในส่วนของการบูรณาการงบประมาณจากช่องทางอื่น ๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้เห็นภาพการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ จะถือว่าดีมาก ทั้งนี้ ทีมส่วนกลาง จะลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยกับ นพ.สสจ. เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันก่อนการจัดประชุมชี้แจงโครงการเพื่อวางแนวทางพัฒนาและอนุมัติงบประมาณสนับสนุน
- นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เสริมว่า ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน เสนอให้มีการเปิดเวทีประชุมชี้แจงให้แต่ละอำเภอได้รับรู้รับทราบ ซึ่งให้แต่ละอำเภอนำแผนพัฒนามาเข้าประชุมร่วมกันด้วยเพื่อให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนร่วมกัน
- นพ.ภูวนนท์ เอี่ยมจันทน์ กล่าวว่า ควรมีการเชื่อมร้อยประสานในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 2 (กขป.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 (สปสช.) คณะกรรมการเขตสุขภาพที่ 2 เป็นต้น ควรมีการนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระสำคัญในการประชุมทุกครั้งเพื่อที่สามารถสร้างความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมโยงไปที่ตำบล คือ การใช้ข้อมูลร่วมกันและสามารถกำหนดปัญหาระดับอำเภอไปสู่ระดับตำบลเกิดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระดับตำบลซึ่งจะสามารถมีโอกาสใช้ทรัพยากรในระดับพื้นที่ได้รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปแท้จริง รวมถึงออกแบบโครงสร้างตัวโครงการที่เป็นระบบเตรียมไว้ เพื่อรองรับแผนพัฒนาของแต่ละพื้นที่เสนอเข้ามา
- นายมานัส ต๊ะชมภู สาธารณสุขอำเภอเมืองตาก มองว่า หลายหมวดเกี่ยวข้องกับภาคส่วนสาธารณสุขอย่างแท้จริงจะมีเพียง 2 - 3 หมวดเท่านั้นที่ไปเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นและภาคประชาชน โดยการดำเนินงานสร้างระบบสุขภาพฯ ที่จะบรรลุผลนั้น มีกลไกสำคัญ 2 จุด คือ ประธาน พชอ.(นายอำเภอ) และ เลขานุการ พชอ.(สสอ.) ฉะนั้นจากการดำเนินงาน พบว่า ต่อไปจากนี้จะไม่เอาเรื่องโรคเป็นแนวทางหลักแต่จะนำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโรคเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อที่จะสามารถบูรณาการผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมได้และที่สำคัญไม่สร้างภาระให้กับภาคส่วนสาธารณสุขทั้งหมด
รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์
สรุปช่วงท้ายการประชุมว่า รูปแบบการประเมินที่นำมาใช้นั้นมีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับแล้วจาก
WHO โดยทางทีมงานได้นำมาปรับประยุกต์ใช้ และทำการเพิ่มในหมวดของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจึงเป็น Six Building Blocks Plus One โดยนัดหมาย
การประชุมครั้งหน้านั้นเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์พร้อมกันนี้จะมีการขอนัดหมายการเข้าพบนายแพทย์สาธารณสุขทั้ง 5 จังหวัด และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตที่ 2 พิษณุโลก ด้วยเช่นกัน เพื่อได้ขอรับฟังความคิดเห็น ร่วมทำความเข้าใจและวางระบบให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น